ไม่มีใครต้องการให้พ่อแม่หย่ากัน เพราะเรามองไม่เห็นข้อดีของการหย่าเลย แต่เมื่อความรักมาถึงทางตัน อยู่ด้วยกันเเล้วพ่อแม่ไม่มีความสุข ทะเลาะกันทุกวัน การหย่ากันตั้งแต่ตอนนี้อาจเป็นผลดีกับตัวเราเอง การอ้างว่าไม่อยากเลิกกันเพราะกลัวลูกจะมีปัญหานั้นไม่จริง การไม่เลิกกันต่างหากที่จะทำให้เรามีปัญหามากกว่า ซึ่งนักจิตวิทยายืนยันแล้วว่า เด็กที่โตมาท่ามกลางความขัดแย้งในครอบครัวนั้นจะทุกข์ใจและมีปัญหามากกว่าเด็กที่พ่อแม่แยกทางกันอย่างถาวร เพราะการฝืนอยู่เพื่อลูกจะนำมาซึ่งปัญหามากมาย เช่น พ่อแม่อาจจะพูดใส่ร้ายอีกฝ่ายให้ลูกฟัง ทำร้ายกัน ทะเลาะกันให้ลูกเห็น เอาปัญหามาลงที่เรา และการรับความเครียดแบบนั้นทุกวันจะทำให้เรามีปัญหาสุขภาพจิตแน่นอน
การตัดสินใจหย่ากันของพ่อแม่เป็นเพียงการตัดสินใจยุติความเป็นสามีภรรยาเท่านั้น แต่เขาทั้งคู่ยังคงเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นป๊า เป็นม๊าของเราเหมือนเดิม และจำไว้ว่าการที่พ่อแม่เลิกกันไม่ได้หมายความว่าเขาต้องเลิกรักเราด้วย เพราะเราจะยังคงเป็นที่รักของเขาตลอดไป เราเพียงแค่ต้องยอมรับให้ได้ว่าพ่อแม่ไม่สามารถที่จะไปต่อได้ในฐานะสามีภรรยา แต่หน้าที่พ่อแม่จะยังอยู่ ยิ่งเรายอมรับได้เร็วเท่าไหร่ เราจะยิ่งปรับตัวได้มากขึ้นเท่านั้น แม้บางครั้งเหตุผลการหย่าร้างกันของพ่อแม่จะทำให้เราเจ็บปวดและยากจะยอมรับได้ เช่น มีบุคคลที่สามเข้ามาแทรกกลาง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความรักที่พ่อแม่มีต่อกันตอนอยู่กับเรานั้นมันไม่จริง
แน่นอนว่าเมื่อพ่อแม่ตัดสินใจหย่าร้าง มันคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิต ที่สำคัญคือเราต้องเลือกว่าจะไปอยู่กับพ่อหรืออยู่กับแม่ หรือบางคนอาจจะได้ไปอยู่กับตา ยาย พี่ ป้า น้า อา เราต้องปรับตัวให้ได้ หากเรายังอยู่ในสถานะที่เลือกได้ว่าจะอยู่กับใคร หลักการมันมีอยู่ว่าให้เราเลือกที่จะอยู่กับคนที่จะ ‘ดูแลเรา’ ได้ดีที่สุด ส่วนคนไหนจะรักเรามากที่สุดนั้นเป็นเรื่องรองลงมา เพราะเราต้องการความปลอดภัยในชีวิต ต้องการคนดูแล ต้องแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เติบโตไปมีสุขภาพจิตดี มีเงินใช้ มีเพื่อน มีคนที่รักและมีสิ่งแวดล้อมที่ดี คิดดูว่าใครคือคนที่จะเลี้ยงดูเราได้อย่างดีที่สุดโดยไม่มีเงื่อนไข
หลังการหย่ากันของพ่อแม่มีสิ่งที่เราจะต้องรู้และเตรียมรับมืออยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะพฤติกรรมบางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นหลังการหย่าร้างปีแรก ดังนี้
• เราอาจจะโทษตัวเอง ว่าการที่พ่อกับแม่แยกทางกันเป็นความผิดของเรา เพราะเราไม่ดี เราทำผิดอะไรสักอย่าง พาลคิดว่าตัวเองเป็นตัวปัญหาทำให้ครอบครัวแตกแยก
• ในบางคนอาจจะฉุนเฉียวและหงุดหงิด กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โทษพ่อแม่ หรือคนใดคนหนึ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นต้นเหตุให้ครอบครัวต้องหย่าร้างกัน
• รู้สึกน้อยใจ รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รักเหมือนเดิมหรือรักน้อยลง จากการที่พ่อแม่เองก็ต้องปรับตัว บางคนอาจจะต้องย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียนกะทันหัน ถ้าได้เพื่อนที่ดีสักคนในช่วงหนึ่งปีนี้จะช่วยเราได้มาก
• บางคนอาจจะชอบความเสี่ยง อยากรู้ อยากลองสิ่งที่ไม่ดีต่อตัวเอง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ติดยาเสพติด และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร จากปัญหาการหย่าร้าง
• เสี่ยงภาวะซึมเศร้า น้อง ๆ คนไหนที่ต้องอยู่กับพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 16 ปี ช่วง 1 – 2 ปีแรกอาจจะเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ฉุนเฉียวง่าย มีความวิตกกังวล หวาดกลัว อึดอัดใจ สับสน ปฏิเสธทุกอย่างรอบตัว และชอบอยู่คนเดียว เป็นต้น
ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะหย่าร้างจากกันด้วยดี มีแผนและคิดถึงลูกก่อนเป็นอันดับแรก ท่ามกลางความสับสนอลหม่าน เราอาจจะได้เห็นด้านที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นเลยของพ่อแม่ และหลังการหย่าร้าง เราอาจต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงในชีวิต ตกอยู่ในความเสี่ยง เช่น ไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้กินข้าว ถูกรังแกทั้งทางร่างกายและจิตใจ อย่าคิดว่านั่นคือโชคชะตาที่เราจะต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิต อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เขาพร้อมจะช่วยเหลือเรา เช่น มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก, มูลนิธิปวีณาหงส์สกุลเพื่อเด็กและสตรี, มูลนิธิศุภนิมิต และหากต้องการคุยเรื่องปัญหาด้านสุขภาพจิตเพื่อรับคำแนะนำเบื้องต้นให้โทรเบอร์ 1323 หรือ 1667
บทความที่เกี่ยวข้อง
พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน เมื่อฉันรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ "คนโปรด" ของพ่อแม่
พ่อแม่ชอบด่า ไม่ค่อยให้กำลังใจ...จะทำยังไงดี
เทคนิคระบายความเครียด เพื่อให้ร่างกายหายเหนื่อยล้า
ดูแลสุขภาพใจยังไง ให้ใจไม่ TOXIC ชีวิตแฮปปี้
โดนเมินจนรู้สึกไร้ตัวตน รับมือยังไงดีให้ใจไม่เจ็บจนป่วย
แหล่งข้อมูล
- เลี้ยงอย่างไรหลังหย่าร้าง : ลูกจะโอเคที่สุดเมื่อพ่อแม่ไม่ขัดแย้งกัน
- 14 คำถามความรัก กับ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์